--Advertisement--





English garden สวนอังกฤษ

สวนในอังกฤษ ได้รับอิทธิพลจากสวนฝรั่งเศสเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังศตวรรษที่ 18 ที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอังกฤษต่อต้านอิทธิพลต่างๆของฝรั่งเศส แต่เดิมสวนในอังกฤษนิยมความง่ายงามตามธรรมชาติ ดังที่ปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ของเช็คสเปียร์และเซอร์ฟรานซิส เบคอน ในช่วงปลายสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในอังกฤษ มีสถาปนิกในอังกฤษหลายคน อาทิ อินดิโก้ โจนส์ เซอร์คริสโตเฟอร์ เวร็น นิโคลัส ฮอร์คซึ่งได้รับอิทธิพลการใส่ใจต่อระเบียบแบบคลาสสิกแบบอันเดรอา พัลลาดิโอ โดยสะท้อนผ่านการออกแบบที่ไม่ประดับประดาในลายละเอียดวิจิตรแบบฝรั่งเศส และไม่เต็มไปด้วยการประดับตกแต่งหรูหราแบบบารอคในอิตาลี สวนที่เริ่มเป็นเอกลักษณ์แบบอังกฤษจึงเริ่มมาจากการผสมผสานการจัดวางสัดส่วนแบบพัลลาเดียนบนแนวความคิดพื้นฐานของสวนอิตาเลียน ทั้งนี้เนื่องด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของอังกฤษเองก็เอื้อต่อการรับอิทธิพบสวนอิตาเลียนที่มีสัดส่วนใกล้ชิด (human scale) กับสัดส่วนมนุษย์มากกว่าสวนแบบฝรั่งเศสที่ใส่ใจกับสัดส่วนใหญ่โต

English garden สวนอังกฤษ

คหบดีและบรรดาขุนนางในอังฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ใส่ใจกับเรื่องการค้นพบต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีสิ่งที่เกี่ยวพันกับการจัดสวนประการหนึ่ง คือ มีกลุ่มที่สนใจการใช้กลศาสตร์น้ำ ในการจัดการสวนน้ำ โดยเฉพาะสวนน้ำที่ใช้ระบบกลศาสตร์เป็นเครื่องมือทำน้ำพุ น้ำตก ที่วิลล่าเดสเต้ ในอิตาลี มีผู้สนใจวิธีการออกแบบน้ำคนหนึ่ง คือ ซาโลมอน เดอ กาส์ ที่ใช้เวลาถึง 3 ปี ในอิตาลี เพื่อเรียนรู้ถึงระบบการจัดการออกแบบและใช้กลศาสตร์น้ำต่างๆ ตลอดจนมีการสร้างถ้ำหรือใช้ถ้ำตามธรรมชาติเป็นเสมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ (ได้รับอิทธิพลจาก grotto ของอิตาลี ) และในปี 1610 ก็เริ่มมีการใช้ water works เป็นสิ่งประดับสวนในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง

สวนที่ได้รับการออกแบบอย่างเป็นทางการและมีชื่อเสียงมากสวนหนึ่งในอังกฤษ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 คือ สวนที่คฤหาสน์วิลตัน (Wilton Court) ซึ่งออกแบบโดยอินดิโก้ โจนส์ และไอแซค เดอ กาส์ โดยมีแปลนเป็นแกนสมมาตรชัดเจนที่นำไปสู่แนวทางเดินมีหลังคาคลุม (portico) ที่ด้านหลังออกไปเป็นทางนำไปสู่grotto สามแห่ง และมี prospect เป็นลักษณะประตูชัยแบบโรมันซึ่งด้านบนมีรูปนักรบบนหลังม้า
ในสมัย commonwealth ( ค.ศ.1649-1660) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลัก สวนในบ้านของบรรดาขุนนางและคหบดีหลายแห่งถูกทำลายโดยจงใจ สวนในพระราชวังหลายแห่งถูกขายทอดตลาด อย่างไรก็ตาม หลัง ค.ศ. 1660 สวนต่างๆ เหล่านั้นก็ได้รับการบูรณะใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มมีการตกแต่งสวนอย่างประณีต เมื่อ อังเดร โมเล่ต์ นักออกแบบสวนชาวฝรั่งเศสได้นำการใช้ parterre มาเผยแพร่ในอังกฤษ และเขาได้รับตำแหน่งเป็นนักจัดสวนแห่งราชสำนักเซนต์เจมส์ในรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 1

สวนอีกแห่งที่มีชื่อเสียงในอังกฤษคือ ที่ แฮมพ์ตัน คอร์ท ซึ่งโปรดฯให้สร้างโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 2 หลังจากที่ทรงกลับจากการลี้ภัยทางกรเมืองในฝรั่งเศส ลักษณะเด่นมากของสวนที่แฮมพ์ตัน คอร์ท คือมีสระน้ำขนาดยาว เป็นแกนกลางหลักของสวนที่ขยายออกไป โดยมีแนวต้น linden กำหนดแนวโค้งครึ่งวงกลมที่ด้านในของส่วนครึ่งวงกลมนั้นได้มีการจัดลายสวนแบบ parterre ไว้อย่างประณีต และมีแนวถนนแกนรองเป็นรัศมีสองข้างของแนวสระน้ำแกนหลักที่ขยายออกไป

สวนในอังกฤษและฝรั่งเศสมีหลักฐานที่เป็นภาพพิมพ์อยู่จำนวนหนึ่ง อันเนื่องจากงานภาพพิมพ์ของ Johannes Kip (1653-1722) และ Leonard Knyff (1579-1649) ซึ่งได้ทำภาพพิมพ์ทัศนียภาพมุมสูงของสวนทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสไว้หลายแห่งในหนังสือ Britania Illustrata และ Le Nouveau Theatre de la Grande Bretagne สวนแบบอังกฤษได้รับอิทธิพลจากสวนดัทช์อยู่บ้าง ที่สังเกตได้ คือ การใช้ topiary และ ระบบคลองเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งประดับสวน (garden features) ทั้งนี้การใช้ระบบคลองในสวนแบบอังกฤษไม่ได้เป็น


การใช้เป็นแกนขยายจากแกนหลัก
เหมือนที่ปรากฏใช้ในสวนฝรั่งเศส แต่เป็นการสะท้อนลักษณะสวนดัชท์ คือ ใช้เป็นส่วนประกอบอิสระไว้ในมุมใดมุมหนึ่งของสวน ซึ่งบริเวณริมน้ำมักจะมีศาลา หนึ่งหรือสองแห่งเป็นที่พักอยู่ใกล้ๆ กันนั้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นลักษณะสวนแบบอังกฤษที่มีการจัดให้มีมุมมองในสวน เป็นเหมือนรูปภาพหลายรูป มีแก่นเรื่องสะท้อนความตั้งใจในการออกแบบในแต่ละมุม อาทิ มีการใช้ theme วรรณกรรมในสมัยคลาสสิค เรื่องในปกรณัมโบราณ มีรูปปั้นเทพเจ้า การใช้ศาลาแบบโรมันที่ทำให้รำลึกถึงซากปรักหักพังสร้างบรรยากาศในอดีตอันไกลโพ้น

ช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป และยุคสมัยแห่งการค้นพบ (Enlightenment Science) ชาวยุโรปเดินทางไปยังทวีปต่างๆ ทำให้มีการนำพืชพันธุ์ไม้จากต่างถิ่นกลับเข้ามาในยุโรป และมีการค้นพบวิธีการทำเรือนกระจกสำหรับดูแลรักษาต้นไม้ในฤดูหนาวและใช้เป็นที่เพาะเลี้ยงดูแลพันธุ์ไม้ที่ได้มาจากแถบอากาศร้อนชื้น การออกแบบสวนในสมัยวิคทอเรียนยังคงมีรูปแบบสวนที่เน้นความเป็นภูมิทัศน์งดงามตามธรรมชาติประกอบกับแนวความคิดแบบโรแมนติก นักออกแบบสวนในสมัยวิคทอเรียนมักจะหลีกเลี่ยงการใช้เส้นตรงเป็นแกนชัดเจนแบบสวนฝรั่งเศส แต่จะใช้เส้นคดโค้งแบบรอคโคโคที่ปรากฏในสวนอิตาเลียนมากกว่า และด้วยความรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของอังกฤษในยุคนี้ สวนที่มี parterre แบบที่ใช้ในสวนตามปราสาทของฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 17 ก็ถูกนำมาปรับใช้ให้เป็น parterre ที่เกิดจากลวดลายไม้ดอก นอกจากนั้นการประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าในสมัยอุตสาหกรรมทำให้การตัดหญ้าทำได้เรียบ สั้นสม่ำเสมอ และเป็นบริเวณกว้าง ทำให้สนามหญ้าที่ราบเรียบสม่ำเสมอสะอาดตากลายมาเป็นอีกลักษณะเด่นของสวนอังกฤษในสมัยนี้
ลักษณะอีกประการในการตกแต่งสวนแบบอังกฤษคือการตัดแต่งต้นไม้เป็นรูปทรงเรขาคณิต (knot garden) และการย้ายต้นไม้ที่โตแล้วโดยคงตุ้มดินที่รากไว้ มีการจัดกลุ่มต้นไม้เป็นแบบต่างๆ อาทิ แบบรวมเป็นกลุ่ม (clump) แบบกระจายเป็นจุดๆ (dot) แบบเป็นแถบ แนวเส้น (belt)

งานออกแบบสวนในอังกฤษมีลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน คือเป็นการสร้างสรรค์ที่อยู่บนพื้นฐานของความสนใจในพฤกษศาสตร์ (Horticulture interest) และความต้องการทางสังคมตามแนวคิดมานุษยวิทย(นักออกแบบสวนอังกฤษคนสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแบบแผนของสวนอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 คือ Joseph Paxton (ค.ศ.1801-1865) ซึ่งเดิมเป็นนักออกแบบสวนให้กับ ดยุคแห่ง Chiswick ใน Derbyshire ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีงานแสดงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีนานาชาติ ( International Exposition) ซึ่งเป็นการแสดงความก้าวหน้าของวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเอ็กซ์โปฯ ที่จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1851 )


สวนแบบอังกฤษจะให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์โดยรอบอย่างมาก เริ่มมีลักษณะที่บ่งบอกความเป็นสวนแบบอังกฤษอย่างเด่นชัดในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยการออกแบบสวนในอังกฤษได้สะท้อนลักษณะเด่นของภูมิประเทศแบบอังกฤษ คือ เป็นเนินเขาที่มีระดับความสูงต่ำของพื้นที่ที่เปลี่ยนระดับอย่างนุ่มนวล มีพื้นหญ้าเขียวสดเกือบตลอดปี ที่เมื่อประกอบกับความชื้นในอากาศที่ทำให้เกิดหมอกจางๆ

แต่เดิมสวนแบบอังกฤษจะมีลักษณะแบบ doll like scale อยู่ด้านนอกของ cottage ซึ่งเป็นลักษณะสวนพื้นบ้านหรือ cottage garden แบบอังกฤษ หลังจากสมัยจักรวรรดิ์นิยมซึ่งชาวยุโรปได้เดินทางไปยังตะวันออกไกล งานออกแบบสวนแบบตะวันออกก็ส่งอิทธิพลต่อสวนในอังกฤษเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สวนจีนในสมัยราชวงศ์แมนจู ที่เน้นความกลมกลืนของการจัดวางอาคารและภูมิทัศน์โดยรอบอย่างมาก อิทธิพลของงานจิตรกรรมในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นอีกสิ่งที่ส่งผลต่อลักษณะของสวนอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวาดภาพภูมิทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับสภาพธรรมชาติเป็นหลัก กลายเป็นความนิยมจัดสวนให้ "งามอย่างรูปภาพ" (picturesque)

ที่มา student.nu.ac.th



Labels: , ,


Leave A Comment:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...